วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557

รู้จักกับ จุตูปปาตญาณ

จุตูปปาตญาณ

         
 เป็นญาณที่ใช้ ในการตรวจดูว่า คน หรือ สัตว์ นี้ ก่อนเกิดมาจากภพภูมิไหน และ คน หรือ สัตว์ที่ตายไปแล้ว ไปเกิดในภพภูมิไหน ถ้าฉลาดขึ้น ก็ใช้ ยถากัมมุตาญาณ มาช่วยในการตรวจเพื่อให้รู้ผลของกรรมด้วยว่าเขาทำกรรมอะไร จึงมาเกิด และ ไปเกิดในภพภูมินั้นๆ


            ญาณต่างๆนี้ สามารถที่จะใช้ในคราวเดียวกันได้ทีละ หลายๆญาณ เนื่องจากญาณทั้งหมดนี้ เป็นผลมาจากทิพย์จักขุญาณเหมือนกัน
           สมมุติว่า เราตรวจดูเด็กคนหนึ่งที่มาเกิดใหม่ อาจจะเห็นได้ว่า เด็กคน นี้ มาจาก เทวดา นางฟ้า บ้าง พรหม บ้าง สัตว์นรก เปรต อสุรกายบ้าง หรือ ตรวจดูคนที่ตายไป ก็จะพบในลักษณะเช่นเดียวกัน ว่าเขาไปเกิดที่ภพภูมิไหน บางทีเราอาจพบ คนที่เคยรวย เคยยิ่งใหญ่ มาเกิดเป็นคนจนเข็ญใจ ก็ให้ตรวจดูด้วยว่า เป็นเพราะกรรมอันใด สัตว์ มาเกิดเป็น มนุษย์ ได้เพราะกรรมอันใด อันนี้จะช่วยให้เรา รู้แจ้งเห็นจริงในการเวียนว่ายตายเกิด เห็นความน่ากลัวของภพภูมิที่ไม่ดี ว่าน่ากลัวเพียงใด  เห็นความสุข ของ สวรรค์ พรหม เห็นความไม่แน่นอนของ เทวดา และพรหม ว่ามีสุขไม่เที่ยงแท้ เมื่อหมดบุญวาสนาบารมี ก็ต้องกลับมาวนเวียนพบกับความทุกข์อีกได้


          เราจะเห็นว่าการเวียนว่ายตายเกิดนี้ ไม่มีวันสิ้นสุด ในไม่ช้า เราก็จะมองเห็น ทุกข์ เป็นการมองเห็นตามอริยสัจ เราจะมีความเบื่อหน่่ายในการเวียนตายเวียนเกิด  จิตเกิดปัญญาเป็นวิปัสนาญาณ
          ถ้าเราปฏิบัติดังนี้ได้ทุกๆวัน ทุกเวลา ย่อมจะมีผลดีกับเราอย่างที่สุด จิตย่อมหลุดพ้นไม่แสวงหาการเกิดอีกต่อไป เข้าสู่มรรคผลนิพานเป็นที่ไป ตามแบบที่พระพุทธเจ้าสอน

วันจันทร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2557

วิธีการฝึกใช้ญาณต่างๆ

วิธีการฝึกใช้ญาณต่างๆ





             สำหรับท่านที่ฝึกด้านกสินใหม่  กองใดกองหนึ่งใน 3 กองที่เป็นกำเนิดของ ทิพย์จักขุญาณ ดังที่ได้เคยกล่าวมาแล้ว ในเรื่องก่อนๆ เมื่อฝึกฝนมาจนกสินนั้น ถึงอุปจารฌาณ หรือ อุปจารสมาธิแล้ว ก็สามารถเริ่มฝึก ทิพย์จักขุญาณได้  แต่ในระดับสมาธินี้ ก็มีผลในการรู้ไม่มากนัก เช่น เห็น นรก สวรรค์ หรือเหตุการณ์ ต่างๆได้บ้าง พอสมควร แต่ไม่ชัดเจนแจ่มใสนัก การเห็นภาพ ก็ ยังไม่เต็ม เช่น เห็นเทวดา ก็มักไม่เห็นเต็มตัว การติดต่อสื่อสารกับ เทพ หรือ พรหม ก็ทำได้เพียงเล็กน้อย ภาพก็จะหายไป ต้องกำหนดจิตกันใหม่บ่อยๆ เนื่องจาก สมาธิระดับนี้ ยังไม่อาจที่จะทรงตัวอยู่ได้นานนั่นเอง

        ให้ท่านค่อยๆ ฝึกฝนไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง ให้ชำนาญ และ มีระดับสมาธิที่สูงขึ้น ทิพย์จักขุญาณ และ ญาณอื่นๆ ก็จะดีขึ้นตามกันไปเอง
         เมื่อสมาธิได้ถึงฌาณ 4 ชำนาญเมื่อใด จิตจะมีความต้้งมั่นมาก ดำรงทรงอยู่ได้นานตามความต้องการ ทิพย์จักขุญาณก็ จะมีสภาพสมบูรณ์ ใช้ได้ดี การเห็นภาพจะเห็นได้เต็ม ไม่ขาดหาย การพูดคุย ก็จะคุยได้นานจนรู้เรื่องกันดี และ สามารถใช้ญาณอื่นๆได้ครบถ้วน

         ทิพย์จักขุญาณนี้ แม้จะเต็มขั้นเพียงใด แต่ก็ยังเป็นเพียงฌาณโลกีย์ การรู้เห็นจะชัดเจนแจ่มใสสู้ท่านที่เป็น อริยะ หรือ โลกุตตระไม่ได้ ย่อมต้องมีมัวเป็นธรรมดาเพราะยังมีกิเลสเป็นเครื่องห่อหุ้มกีดขวางอยู่นั่นเอง

         ญาณต่างๆ ก็มีความสว่างตามกำลังของฌาณ หรือสมาธิ ดังนั้นเมื่อจะใช้ญาณต่างๆ ก็ต้องเพ่งรูปกสิณให้เต็มกำลังที่ตนได้ก่อน ภาพกสิิณชัดเจนเท่าใดภาพที่เราต้องการเห็นก็เห็นได้เท่าภาพกสิณ ต่อมาก็อธิษฐานให้ภาพกสิณหายไป ขอภาพที่เราต้องการจงปรากฏขึ้นมาแทน เพียงเท่านี้
         ควรหมั่นฝึก หมั่นเล่นทุกวันๆละหลายๆหน จิตจะมีความเพลิดเพลิน มีความรู้ความฉลาดเกิดขึ้น ปัญญาการรู้แจ้งเห็นจริงจะเกิดขึ้นได้ง่าย

วันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2557

มโนมยิทธิ ตามแบบ หลวงพ่อฤาษี ลิงดำ

มโนมยิทธิ ตามแบบ หลวงพ่อฤาษี ลิงดำ




          มโนมยิทธิ  แปลว่า มีฤทธิ์ทางใจ หลวงพ่อท่านหมายถึง การที่เราสามารถ ถอดจิต ออกจากร่างกาย แล้วท่องเที่ยวไปในภพภูมิต่างๆได้  ท่านบอกว่า ความจริงต้องจัดไว้ในส่วนของอภิญญา แต่เนื่องจากผู้ที่ ทรงวิชชา 3 ก็สามารถทำได้
            เมื่อเราสามารถที่จะทรงฌาณ 4 ได้ในกสินอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ก็สามารถที่จะทรง มโนมยิทธิได้ สามารถที่จะท่องเที่ยวไปที่ใดก็ได้ตามใจปราถณา


            วิธีปฏิบัติ   
อันดับแรก จัดพานครู มีธูป 3 ดอก ดอกไม้ 3 ดอก เทียน 1 เล่ม
ต่อมา ทำสมาธิเข้าให้ถึง ฌาณ 4 ทำจิตให้สว่างไสว โปร่งดีแล้ว ให้กำหนดจิตว่า ขอร่างกายนี้จงเป็นโพรง ก็จะเห็นร่างกายเป็นโพรงใหญ่ แล้วให้กำหนดจิตว่า ขอร่างกายอีกร่างหนึ่ง จงปรากฏขึ้นในกายนี้  กายอีกกายหนึ่งก็จะปรากฏขึ้น ต่อไป ท่านบอกว่าให้บังคับร่างกายใหม่นี้ เคลื่อนไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ให้เข้าไปในอวัยวะน้อยใหญ่ กระทั่งในเส้นเลือดเล็กๆ ร่างกายนี้ก็เข้าไปได้สบาย เหมือนเดินในถ้ำ ในโพรง  ฝึกท่องเที่ยวในร่างกายให้ทั่ว ให้ชำนาญ แล้ให้หาความรู้ในร่างกายด้วย ถึงสภาพของอวัยวะนั้นๆ รู้ถึงความสกปรกของอวัยวะนั้น รู้ให้ชัดว่ายากที่ปกติไม่เจ็บป่วยอวัยวะนั้นมีสภาพอย่างไร และจดจำไว้  พอป่วยไข้ไม่สบายก็จะสามารถตรวจรู้ด้วยตัวเองได้ว่า มีอะไรผิดปกติไป หรือ ชำรุดไปบ้าง จะเห็นแจ้งชัด ไม่แพ้เครื่องเอ็กซ์เรย์สมัยใหม่เลย มีประโยชน์มาก



             ต่อมาเมื่อเที่ยวในร่างกายจนชำนาญดีแล้ว ไม่หวั่นไหวเกรงกลัวอะไรแล้ว ให้กำหนดจิตว่าจะไปในสถานที่ใด แล้วพุ่งกายในออกไป ก็จะถึงสถานที่นั้นในทันที เมื่อถึงแล้ว จิตจะบอกเองว่าเป็นสถานที่ใด พบใครบ้าง เนื่องจากความเป็นทิพย์ของจิต จะรู้ตามความเป็นจริงได้เอง

             ท่านให้ฝึกทำให้คล่อง ขนาดเพียงกำหนดจิตคิดว่าจะไป ก็ไปได้ทันที ทุกขณะจิต ทุกอิริยาบท โดยเฉพาะเวลาป่วย ควรฝึกให้ชำนาญมากด้วยขณะที่ร่างกายมีทุกขเวทนามาก ให้ถอดจิตออกไปเสีย เวทนาจะได้ไม่รบกวน ไปพักจตที่ สวรรค์ หรือ พรมหม ตามต้องการ และ ควรทำเป็นปกติ  แต่ควรสั่งผู้ที่ดูแลพยาบาลไว้ว่าอย่าให้ใครรบกวน  ถ้าได้มรรคผล ถึง วิมุติญาณทัสสนะ ให้ไปพักจิตที่นิพพานเลยนั่นแหละดี ถ้าหากร่างกายมันบังเอิญพังลงเราก็อยู่ที่นั้นๆเลย หมดทุกข์ไป


วันเสาร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2557

วิธีฝึกบุปเพนิวาสานุสสติญาณ

วิธีฝึกบุปเพนิวาสานุสสติญาณ





     
 คือ  ญาณที่ทำให้สามารถระลึกชาติที่เคยเกิดมาในอดีตได้  ท่านว่า เมื่อได้ทิพย์จักขุญาณแล้ว ญาณนี้ต้องมีแบบฝึกต่างหาก แต่ในทางปฏิบัติปกติของนักเจริญกสิน เมื่อได้ทิพย์จักขุญาณแล้ว ก็มักจะระลึก ชาติได้เอง แต่จะระลึกได้มาก ได้น้อย ก็ขึ้นอยู่กับความขยันฝึกระลึก


       การฝึกเพื่อระลึกชาติสำหรับผู้ที่ฝึกใหม่นั้น ท่านให้ทำดังต่อไปนี้ ให้เข้าฌาณ 4 ในกสินกองใดกองหนึ่ง ต้องเป็นฌาณในกสินเท่านั้น กรรมฐานอย่างอื่นไม่ได้ แล้วออกจากฌาณ 4 มาทรงอารมณ์อยู่ในอุปจารสมาธิ  หรือ อุปจารฌาณ คืออันเดียวกัน แล้วค่อยๆคิดย้อนถอยหลังถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว ในวันนี้ถอยเวลาลงไปเรื่อยๆ เมื่อวานนี้ อาทิตย์ก่อน ๆๆ เดือนก่อนๆ ปีก่อนๆ ชาติก่อนๆไปเรื่อยๆ ตามเวลา และ ความขยัน ถ้าจิตเริ่มฟุ้งซ่านก็เข้า ฌาณ 4 ใหม่ แล้วก็ทำดังนี้ไปเรื่อยๆ  ไม่ช้าก็จะค่อยๆรู้ ค่อยๆเห็น  ในแบบรู้ทางใจ เป็นภาพขึ้นมา เหมือนทิพย์จักขุญาณ และ รู้เรื่องราวต่างๆ ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ชื่อเรา ชื่อ พ่อ แม่ พี่น้อง สถานที่ รู้ได้ทุกอย่าง


        ควรใช้ญาณนี้เพื่อ ละกิเลส โดยพิจารณาเป็นวิปัสนาญาณว่า เรานี้ได้ผ่านการเกิด การตาย การแก่ การเจ็บ มามากมายในทุกๆชาติ เวียนว่ายตายเกิดชนิดหาที่สิ้นสุดมิได้สักที  การเกิดแต่ละครั้งก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ไม่ว่าจะเกิดเป็นพรหม เทวดา นางฟ้า กษัตริย์ คนมั่งมี ยิ่งใหญ่เพียงใด หรือเป็น ยากจกเข็ญใจ เป็น เปรต สัตว์นรก อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ยิ่งเต็มไปด้วยความทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นสุขจริง จะเห็นได้ว่า เราเคยเป็นมาแล้ว ทุกอย่าง หาทางพ้นจากความทุกข์ไม่ได้เลย

         เมื่อจิตเห็นทุกข์จากการเวียนว่ายตายเกิด ก็เท่ากับเป็นการเห็น อริยะสัจ 4 พระท่านว่าเป็นองค์วิปัสนาญาณ อันดับสูง เป็นการเห็นด้วยปัญญา ชนิดรู้แจ้งเห็นจริง จะช่วยคลายมานะ ความถือตัวถือตน ซึ่งเป็นกิเลสตัวสำคัญ ด้วยจะเห็นว่า ไม่ว่าเรารังเกียจใคร เราก็เคยเป็นอย่างเขามาก่อน เห็นสัตว์ใด ก็รู้ได้ว่า เราก็เคยเป็นมาก่อน เขากับเราก็มีสภาพเหมือนๆกัน คือ เกิด แก่ เจ็บ แล้วก็ตาย มีทุกข์อื่นๆเสมอกันหมด เมื่อจิตบรรเทามานะ ความถือตัว ถือตนเสียได้ ใจก็จะมีความสุขสงบ บรรลุมรรคผลได้ไม่ยากเย็นนัก

วันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2557

วิธีฝึก อาโลกกสิน เพื่อให้ได้ทิพย์จักขุญาณ

วิธีฝึก อาโลกกสิน เพื่อให้ได้ทิพย์จักขุญาณ

   

            อาโลกกกสิน คือ การเพ่งแสงสว่าง เป็นอารมณ์ให้เกิดสมาธิ ปัจจุบันนิยมใช้ลูกแก้วใส เพื่อความสะดวก มีผลเช่นเดียวกัน เพราะ จุดสุดท้ายของ กสินนี้ก็คือ ดวงแก้วใส ถึงดวงแก้วเป็นประกาย แต่ในโบราณท่านทำดังนี้ คือ ให้เพ่งแสงสว่าง ที่ลอดเข้ามาทางรูแตกของขข้างฝา หรือหลังคา กำหรดจิตจดจำภาพแสงสว่างนั้นไว้ให้ได้ แล้วหลับตานึกถึงภาพนั้น ถ้าภาพนั้นเลือนหายไป ก็ ลืมตามาดูใหม่ ทำซ้ำๆอย่างนี้จนจำได้ขึ้นใจไม่ลืมเลือน ก็ไม่ต้องดูแสงนั้นอีก ให้นึกถึงภาพที่เราจดจำไว้แทนได้เลย วิีธีนี้ใช้กับกสินทุกชนิดด้วย แล้ว เพิ่มคำ ภาวนาเข้าไปว่า "อาโลกกสิณัง"  คอยควบคุมไม่ให้จิตฟุ้งซ่านออกไป ทีนี้พอจิตเริ่มจะมีสมาธิ ก็มักจะมีภาพอื่นเกิดสอดแทรกขึ้นมา ก็ให้ตัดทิ้งไปเสียอย่าเพิ่งไปสนใจ เพราะยังไม่ใช่ของจริง ของแท้ เป็นเพียงอุปทานของจิต ที่สร้างภาพต่างๆขึ้นมา เราต้องรักษาภาพกสินเดิมของเราให้มั่นคง แน่นหนักเพียงอย่างเดียว และให้เห็นได้ทุกเวลาที่ต้องการเห็น  ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบทใด หรือทำอะไรอยู่ ไม่ยอมให้ภาพนั้นลืมเลือนไป ต่อมาภาพนิมิตนั้นจะหนาขึ้นทึบขึ้น หนักแน่นขึ้น  ให้เราฝึกนึกให้ภาพนั้น เล็ก ใหญ่ เคลื่อนไปในทิศทางต่างๆ ได้ตามต้องการอย่างไม่ผิดพลาด ทำได้ขนาดนี้ ก็จัดว่าจิตมีสมาธิดีพอสมควรแล้ว ไม่ช้าภาพนั้นก็จะค่อยๆ เปลี่ยนจากสีเดิม เป็นใส มีประกายพรึกทีละน้อย ๆ และค่อยๆเพิ่มมากขึ้น ถึงที่สุดจะกลายเป็นดวงแก้วประกายพรึก สวยสดงดงาม ดวงใหญ่ ทีนี้ให้กำหนดภาพให้ เล็ก ใหญ่ ไปซ้ายขวาให้คล่องที่สุด เพื่อประโยชน์ในการฝึก มโนมยิทธิ หรือ ถอดจิตออกท่องเที่ยวไปในภพภูมิต่างๆ

         เริ่มฝึกทิพย์จักขุญาณ    การเห็นภาพเป็นประกาย และ สามารถรักษาภาพไว้ได้นั้น เป็นฌาณ ทีนี้ก็มาฝึกใช้สมาธิระดับนี้ดู นรก สวรรค์ พรหมโลก กัน


         วิธีการคือ ให้จับภาพกสิณนั้นให้มั่นคงดีแล้ว ถ้าอยากดูนรก ให้กำหนดจิตลงต่ำ แล้วอธิษฐานว่า ขอภาพนี้จงหายไป ภาพนรกจงปรากฏขึ้นแทน เท่านี้ภาพนรกก็จะปรากฏ จะดูนรกขุมไหน หรือคนทำผิดอย่างนั้น อย่างนี้ต้องตกนรกขุมไหน ก็อธิษฐานเอา  ถ้าจะดูสวรรค์ พรหมโลก ก็ให้กำหนดจิตสูงขึ้น แล้วก็ทำเหมือนเดิม จะเป็นการเห็นทางใจไม่ใช่ทางตา ต้องการรู้เห็นอย่างอื่นๆ ก็ต้องทำเหมือนกัน ถ้าชำนาญดีแล้วก็เห็นชัดเหมือนเห็นด้วยตา ให้ทำให้คล่อง ขนาดที่ว่า พอคิดว่าจะรู้ก็รู้ได้ทันที ไม่ว่าอยู่ในอิริยาบทใด หรือเวลาไหน  เมื่อได้ทิพย์จักขุญาณแล้ว ก็จะได้ญาณอื่นๆ ืั้เป็นบริวารของทิพย์จักขุญาณ อีก 7 อย่างตามมา คือ
1.  จุตูปปาตญาณ   รู้ได้ว่า คน สัตว์ที่ตายไปแล้ว ไปเกิดที่ใด หรือ ที่มาเกิดใหม่นี้ มากจากไหน
2.  เจโตปริยญาณ  รู้อารมณ์จิต หรือ รู้ใจ คนและสัตว์ว่าคิดอย่างไร ต้องการอะไร
3.  ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ  ระลึกชาติต่างๆในอดีตการได้
4.  อติตังสญาณ  รู้เรื่องราวในอดีตได้
5.  อนาคตังสญาณ  รู้เหตุการณ์ที่จะเกิดในกาลข้างหน้าได้
6.  ปัจจุปันนังสญาณ  รู้เหตุการณ์ในปัจจุบันว่า ขณะนี้เหตุการณ์เป็นอย่างไร
7.  ยถากัมมุตาญาณ  รู้ผลกรรมของสัตว์ คน เทวดา พรหม ว่า ที่เขามีสุข มีทุกข์อย่างนี้เป็นเพราะผลจากการกระทำอย่างไร

         อย่าลืม เมื่ออิ่ม เมื่อสมาธิคลายตัวแล้ว หากมุ่งมรรคผล ควรพิจารณาอนุสสติ ในด้าน กายคตานุสสติกรรมฐาน หรือ กองอื่นๆ เพื่อตัดกิเลส ทันทีเพราะ ขณะนั้น จิตมีกำลังแรงกล้ามากพอที่จะเห็นในวิปัสนาญาณได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง สามารถบรรลุมรรคผลได้ไม่ยาก

วันอังคารที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2557

รู้จักกับปฐมฌาณ

รู้จักกับปฐมฌาณ

          ปฐมฌาณคืออะไร  คือ  สมาธิในขั้นแรกของระดับ สมาธิที่สูงพอที่จะตัดกิเสล บรรลุความเป็นอริยผลได้
ก่อนหน้านั้น ก็จะต้องมี ขณิกสมาธิ คือมีสมาธิเพียงเล็กๆน้อยๆ ชั่วแป๊บเดียว จิตก็ฟุ้งซ่าน ต่อมาก็มี อุปปจาระสมาธิ คือ สมาธิระดับกลาง ที่จิตตั้งมั่นได้พอสมควรนานกว่า ขณิกะสมาธิ


ส่วนประกอบ หรือ องค์ของปฐมฌาณ มีอะไรบ้าง 

1. วิตก  คือ การคิดคำนึงถึงกรรมฐานที่ฝึกอยู่ตลอดเวลา
2. วิจาร  คือ การใคร่ครวญ กำหนดรู้ตามกรรมฐานนั้นๆ ไม่ให้บกพร่อง ตรวจตราให้ถูกต้อง ครบถ้วนอยู่ตลอดเวลา
3. ปีติ  คือ การมีความรู้สึก เอิบอิ่ม รื่นเริง ไม่อยากเลิก ไม่เบื่อ ในการปฏิบัติกรรมฐาน
4. สุข  คือ รู้สึกมีความสุขสบาย ซาบซ่าน เบากายเบาใจ อย่างบอกไม่ถูก
5. เอกัคคตารมณ์  คือ รู้สึกว่ามีอารมณย์ มั่นคง แนบแน่น อยู่ในสมาธิที่กำลังทำ ตั้งมั่นไม่เคลื่อน


         ทั้งหมดนี้เป็นอารมณ์ของปฐมฌาณ ถ้าหากเข้าถึงแล้ว ตอนนี้จิตจะมีอารมณย์เป็นทิพย์มาก  สามารถกำหนดจิตรู้ในสิ่งที่เป็นทิพย์ได้ การจะได้มรรคผล ซึ่งเป็นผลของวิปัสนานั้น ต้องอาศัยทิพย์จักขุญาณเป็นเครื่องบอก พระท่านกล่าวไว้ว่า เมื่อภิกษุบรรลุแล้ว ก็มีญาณบอกว่ารู้แล้ว  ท่านหมายถึง ทิพย์จักขุญาณนั่นเอง

วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2557

นิสัยของผู้มีแนวทางแบบ เตวิชโช

นิสัยของผู้มีแนวทางแบบ เตวิชโช

          ท่านผู้ที่มีนิสัยแนวทางนี้จะได้แก่ผู้ที่ได้วิิชชา 3  คือ

1. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ   ระลึกชาติที่ผ่านมาแล้วได้

2. จุตูปปาตญาณ รู้ว่าคน หรือสัตว์ ที่ตายแล้วไปไหน และ ก่อนเกิดมาจากไหนได้

3. อาสวักขยญาณ  สามารถตัดกิเลส ให้สิ้นไป บรรลุธรรมชั้นสูงได้


          การที่ท่านคุณวิเศษ 3 ประการนี้นั้น ท่านต้องเป็นผู้ที่มีอุปนิสัย อยากรู้อยากเห็น เป็นนักสงสัย และต้องค้นคว้าหาคำตอบให้ได้ และต้องขุดค้นให้ลึก จนเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง จนหายสงสัย
         
ท่านผู้ที่จะปฏิบัติในแนวทางนี้นั้น ต้องทำดังนี้

1. ขั้นต้นเลยเริ่มด้วยการรักษาศีลให้บริสุทธิ์
2. ฝึกสมาธิใน กสินกองใดกองหนึ่ง ใน 3 ประการนี้ เพราะ จะเป็นตัวช่วยให้เกิดทิพย์จักขุญาณโดยตรง และแจ่มชัด คือ
         -  เตโชกสิณ  เพ่งไฟ

         -  อาโลกกสิณ  เพ่งแสงสว่าง หรือ ลูกแก้วก็ได้ กสินกองนี้ดีที่สุดตามตำรา วิสุทธิมรรค

         -  โอทาตกสิณ  เพ่งสีขาว

ในปัจจุบัน เราอาจเคยพบ เคยได้ยินถึงบุคคลผู้ สามารถรู้เห็น อะไรๆ ได้เกินมนุษย์ธรรมดา ก็มักจะได้แก่บุคคล ที่มีนิสัย ตามแนวทางนี้นี่เอง

วันเสาร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2557

นิสัยของผู้ที่มีแนวทางแบบ สุกขวิปัสสโก

นิสัยของผู้ที่มีแนวทางแบบ สุกขวิปัสสโก

             พระท่านสอนว่า นักปฏิบัติพระกรรมฐานนั้น มีหลายแบบ หลายแนวทาง โดยแบ่งแนวทางการบรรลุมรรคผลเป็น 4 แนวทางด้วยกัน วันนี้จะกล่าวถึง ผู้มีอุดมคติ หรือ แนวทางแบบ สุกขวิปัสสโก


            นักกรรมฐานผู้มีแนวทางแบบนี้ มักชอบแบบ ง่ายๆ เรียกว่า สุกเอาเผากิน ไม่ชอบพิธีรีตรองให้ยุ่งยาก  ไม่ต้องการฤทธิ์เดช ไม่ต้องการอวดความเก่งกับใคร ต้องการอย่างเดียวคือ บรรลุมรรคผล ท่านผู้มีนิสัยแบบนี้ พระพุทธองค์ เรียกการปฏิบัติแบบนี้ว่า  สุกขวิปัสสโก

             คือการ ปฏิบัติ แบบสบายๆ เริ่มต้นด้วยการรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ตามสภาพของตน ศีลนี้ีความสำคัญมาก ถ้าต้องการบรรลุมรรคผลแล้ว  อย่าให้ศีลบกพร่องเป็นอันขาด อย่าให้ด่างพร้อย ถ้าหากยังรักษาศีลแบบ ขาดมั่งดีมั่ง แล้วละก็ พระท่านว่าไม่มีหวังในมรรคผลแน่นอน

             ทีนี้เมื่อมีศีลครบถ้วนมั่นคงดีในจิตใจแล้ว ก็ทำสมาธิ เรื่องสมาธินี้ท่านสุกขวิปัสโกไม่สนใจมุ่งเอาสมาธิระดับสูงๆ หรือฌาณสมาบัติต่างๆ พอมีสมาธิเล็กๆน้อย ท่านก็เจริญวิปัสนาควบคู่ไปด้วยตลอด รวบรวมสมาธิไปทีละเล็ก ทีละน้อย จนกระทั่ง เมื่อสมาธิเข้าถึงระดับปฐมฌาณ วิปัสสนาญาณที่ท่านทำก็มีกำลังพอที่จะตัดกิเลสได้ มรรคผล แต่ถ้า สมาธิยังไม่ถึงปฐมฌาณก็ยังไม่อาจตัดกิเลส เอามรรคผลได้
พระท่านว่านี่เป็นกฏตายตัว  เนื่องด้วยมรรคผลต้องมีฌาณเป็นเครื่องรู้ เครื่องบอก ฌาณนี้จะเกิดขึ้นเมื่อจิตเข้าสู่อุปจารสมาธิ  เมื่อจิตตั้งมั่นในอุปจารสมาธิดีแล้ว จะเกิดทิพย์จักขุญาณ สามารถเห็น และ ได้ยินสิ่งที่เป็นทิพย์ได้ เมื่อสามารถเข้าถึงปฐมฌาณได้ จิตจะเป็นทิพย์มาก สามารถกำหนดจิตเพื่อรับรู้ในสิ่งที่เป็นทิพย์ได้ ผลของวิปัสสนา คือ มรรคผลนั้น ต้องอาศัย ทิพย์จักขุญาณ เป็นเครื่องบอก

            ดังพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า เมื่อ ภิกษุบรรลุแล้ว ก็มีญาณบอกว่ารู้ ท่านหมายถึง ญาณที่เป็นทิพย์จักขุญาณนั่นเอง


            พระท่านกล่าวว่า ท่านที่เป็นสุกขวิปัสสโก แม้ว่าท่านจะรวบรัด และ สบายๆ อย่างไรก็ต้อง อาศัยฌาณ ในสมถะ  แต่ท่านได้เพียง ฌาณขั้นเล็กๆ คือ ปฐมฌาณ ไม่อาจเอาดีเอาเด่นในเรื่องฌาณได้

            สิ่งที่ท่านทำคือ
1. รักษาศีลบริสุทธิ์
2. ทำสมาธิ ควบ วิปัสสนา
            เมื่อสมาธิท่านถึงปฐมฌาณเมื่อใดท่านก็บรรลุมรรคผล  ท่านไม่มีฌาณสูง ไม่มีฤทธิ์เดช  อะไรทั้งสิ้น แต่ก็บรรลุมรรคผลได้


วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2557

อนุสสติ 3

อนุสสติ 3

      วันนี้เราจะมาแนะนำกันในอนุสสติ 3 ประการที่มีความสำคัญมากใน การเจริญพระกรรมฐานเพื่อเอามรรคผลกัน คือ
1. กายคตานสสติ
2. มรณานุสสติ
3. อุปมานุสสติ

     อนุสสติ ทั้ง 3 ประการนี้ ถือว่ามีความสำคัญที่สุดในบรรดาอนุสสติทั้งหลาย เพราะ ถ้าผู้ใดปฏิบัติในอนุสสติทั้ง 3 นี้ได้ครบถ้วน สม่ำเสมอ ถือว่าเป็นการปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ โดยตรง และ หากท่านผู้ใดไม่ปฏิบัติในอนุสสติทั้ง 3 นี้โดยเฉพาะ กายคตานุสสติกรรมฐาน ก็ไม่อาจที่จะบรรลุมรรคผลได้
    กายคตานุสสติ  เป็น กรรมฐานที่ทำลาย กามฉันทะ ซึ่งเป็นกิเลสตัวสำคัญ  ทำให้เร่าร้อนไปด้วยไฟราคะ แต่คนส่วนใหญ่คิดว่าราคะนี้เป็นคุณ เพราะทุกคนมีความปราถณาในกาม ในการมีคู่ครอง น้อยนักที่ไม่ต้องการ

    มรณานุสสติกรรมฐาน ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน เพราะ องค์พระพุทธเจ้า ท่านก็ได้เคยตรัสบอกกับพระอานนท์ว่า  ท่านนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก  สัตว์มากมาย รวมถึงมนุษย์ ตายลงให้เราได้ยินข่าวทุกวัน และ ไปร่วมงานศพบ่อยๆ แต่กลับไม่เคยว่าเราเองก็จะต้องตาย และแม้กระทั้งใครพูดถึงความตายก็รีบห้ามไม่ไห้พูดเสีย หาว่าปากไม่เป็นมงคล  หลวงพ่อฤาษีลิงดำกล่าวไว้ว่า มรณานุสสตินี่เป็นกรรมฐานนับเนื่องกับสักกายทิฎฐิ (สังขโยชน์ข้อ1) ถ้าคิดถึงความตายอย่างเดียว เป็น สมถะ ถ้าเห็นว่าความตายมันมีมาได้เพราะอาศัยร่างกายที่ไม่ทรงตัว ไม่เที่ยง อันนี้เป็น วิปัสสนาญาณ เป็น ตัวตัด สักกายทิฎฐิ

     อุปมานสสติกรรมฐาน  ท่านให้นึกถึง พระนิพพานเป็นอารมณ์  ตั้งจิตไว้ตลอดเวลาว่า การปฏิบัติพระกรรมฐานนี้ เราต้องการจุดเดียวคือพระนิพพาน ตายเมื่อไหร่ขอไปนิพพาน ภพอื่น ภูมิอื่นเราไม่ไป เพราะไม่อาจหลุดพ้นจากทุกข์ จากการเวียนว่ายตายเกิดได้ พระบางรูปยังสอนญาติโยมทั้งหลายโดยแปลเอาจากบาลีว่า นิพพานสูญ ความจริงเขาสูญ หรือว่างจากความเลวต่างหาก

      จะเห็นได้ว่า กรรมฐานใน อนุสสติทั้ง 3 กองนี้ พระพุทธเจ้าท่านจัดไว้ในบุคคลผู้มีจริตเป็น พุทธจริต คือ เป็นอารมณ์เป็นคนฉลาด  สามารถที่จะเอาไปคิด ไปพิจารณาได้ ส่วนบุคคลที่มีอารมณืเป็น จริตอื่นยากที่จะเห็นได้ชัด
        ทีนี้เวลาปฏิบัติ  ก็ควรเริ่มด้วย อานาปานุสสติกรรมฐาน (ดูลมหายใจ) อาจควบกับพุทธานุสสติกรรมฐาน (ภาวนา เช่น พุทโธ) ด้วยยิ่งดี ตั้งอารมณ์ให้ทรงตัวให้ถึงจุดที่สุขที่สุดที่ท่านทำได้ สงบนี่งอยู่จน สมาธิเริ่มคลาย ก็พิจาราในอนุสสติตามนี้ได้
       
     

วันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2557

กายคตานุสสติกรรมฐาน

กายคตานุสสติกรรมฐาน

             คือ การตามนึกถึงสภาวะความเป็นจริงใจในกาย          
ก่อนเจริญกายคตานุสสติกรรมฐาน ให้ท่านตั้งสมาธิตามที่เคยทำได้ชำนาญเสียก่อนให้จิตเข้าถึงความสุขที่สุดเท่าที่ท่านจะทำได้ ใครถนัดทำแบบไหนก็เอาตามเดิมนั้น จิตก็จะทรงอยู่ในอารมณ์อยู่ในสมาธิกองนั้น เมื่อคลายจากสมาธิที่ทำนั้น มาทำการพิจารณาในกายคตานุสสติกรรมฐานก็จะทรงอารมณ์ได้ดี ได้นานผลการพิจารณาก็จะเห็นเด่นชัดด้วยปัญญา และ ทรงตัว
            การปฏิบัติด้วยวิธีนี้ มีความสำคัญสูง เพราะเมื่อจิตทรงตัวแล้ว การพิจารณาด้วยปัญญาจะเห็นได้ง่าย โดยเฉพาะกรรมฐานกองนี้เป็นการตัดสักกายทิฐิ  ซึ่งเป็น สังขโยชน์ตัวแรกโดยตรง ได้แก่การพิจจารณาในเรื่องของกายให้สามารถละความยึดมั่น ถือมั่ั่น ในกายได้ เป็นการก้าวไปสู่ความเป็นอริยะบุคคล

         
               พระพุทธเจ้ากล่าวถึงร่างกายนี้ ว่า  มาจากธาตุ 4 คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ
ธาตุดิน เช่น  อวัยวะน้อยใหญ่ ที่เป็นชิ้นเป็นก้อน แขน ขา เป็นต้น
ธาตุน้ำ เช่น  ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อมูก
ธาตุลม เช่น  ลมที่พัดขึ้นเบื้องบนในร่างกาย ลมที่พัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในใส้ ลมเข้าไปตามเนื้อต้ว ลมหายใจ
ธาตุไฟ เช่น  ไฟที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น ไฟที่ทำให้ร่างกายทรุดโทรม ไฟที่ทำให้ร่างกายกระวนกระวาย ไฟที่ทำให้อาหารย่อย หรือ ไฟสภาพของความร้อน

            วิธีกำหนดพิจารณาร่างกายนี้ ท่านให้พิจารณาว่า เป็นเพียง ธาตุทั้ง 4 มาประชุมรวมกันเท่านั้น มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ในเมื่อเราไม่มีในกาย กายก็จึงไม่มีในเรา การประกอบด้วยธาตุ 4 แล้วแบ่งเป็น อวัยวะ 32 อย่าง พยายามค่อยๆคิดไปทีละอย่าง เช่น
             ผม  มันเป็นผมของเราจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นผมเราจริง เราต้องการให้ยาว ให้สั้น อยู่แค่ไหน มันก็ต้องแค่นั้นตามใจเราโดยไม่ต้องไปตัด ไม่ต้องการให้เปลี่ยนสีจากดำเป็น เทา เป็น ขาว มันก็ต้องไม่เปลี่ยน เราไม่ต้องการให้มันสกปรก มันก็ต้องสอาดอยู่เสมอ โดยที่เราไม่ต้องไปดูแลมัน ถ้าเราไม่ตัดแต่ง ไม่สระ ไม่หวี มันจะสะอาดหรือ สกปรก ดูสิว่าผมมันตามใจเรารึเปล่า เราบังคับมันได้ไหม เราก็จะทราบได้ว่า ผมมันไม่ได้อยู่ภายในอำนาจของเรา
            อวัยวะน้อยใหญ่อื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ให้ค่อยๆ พิจารณาไปตามแบบนี้ ให้ครบ 32 ได้ยิ่งดี นึกถึงสภาพอวัยวะภายในร่างกาย ว่าสิ่งเหล่านี้ มันสะอาด หรือสกปรก มันมีสภาพเป็นอย่างไร จะเห็นว่า ทุกอย่างเราควบคุมมันไม่ได้ มันมีสภาพตามแต่ที่มันจะเป็นไปโดยธรรมชาติ และ ถ้าหากมีการผ่าศพเราลองไปดู จะเห็นว่ามีแต่เลือด น้ำเหลือง และเทะไปหมด ตรงไหนมันน่ารัก น่าจับต้องบ้าง น่าเอามาลุบมาคลำ เอามาเก็บรักษาบ้าง
             เรามาลองดูคนที่มีสภาพสกปรก ผมเผ้าไม่ได้หวี ปล่อยยุ่งเหยิงพะรุงพะรัง  น้ำไม่ได้อาบเต็มไปด้วยฝุ่น ขี้เหงื่อขี้ไคลโรคผิวหนัง  เสื้อผ้าไม่ได้เปลี่ยนสกปรกมอมแมม  มันน่ารักน่าดูไหม  เล็บดำไม่ได้ตัด ฟันไม่แปรงเหลืองอ๋อย และ ถ้าเป็นทรากศพที่ท้องฉีกใส้ทะลัก อวัยวะน้อยใหญ่ทะลัก ตับ ม้าม หัวใจ ปอด ไหลออกมาเลอะเทอะ มันน่ารักไหม อาหารใหม่ อาหารเก่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันก็อยู่ในร่างกายเรา แล้วท่านว่า สิ่งเหล่านี้ที่อยู่ในกายเรามันสะอาดหรือสกปรก  นึกให้เห็นว่า ร่างกายเรามันก็คล้ายถุง ใส่เนื้อในอวัยวะ เต็มไปด้วยความสกปรก เปิดถุงออกมาก็มีแต่ความเหม็นคาว เรารู้สึกว่ามันน่ารัก หรือน่ารังเกียจ

              เสลด เสมหะ  น้ำลาย อยู่ในปากเราเราไม่รู้สึกอะไร พอถ่มมันออกมาใส่มือแล้วเราอยากกลืนกินมันกลับเข้าไปไหม คงกลืนไม่ลง น้ำหนองจากแผล เลือดจากแผล น้ำมูก น้ำปัสสาวะ ถ้ามันไหลออกมาแล้ว เราอยากกินเข้าไปไหม ทั้งๆที่สิ่งเหล่านี้ก็ออกมาจากร่างกายเรา เราก็รู้สึกได้ทันทีเลยว่ามันสกปรก แล้วสิ่งเหล่านี้มันอยู่ที่ไหนล่ะ มันออกมาจากไหนกัน มันก็อยู่ในร่างกายเรา ออกมาจากร่างกายเราเอง แล้วที่นี้ร่างกายเรามันสะอาด หรือ สกปรกกันแน่ล่ะ





           เห็นคนหรือสัตว์ก็ตาม จงอย่าเห็นแต่เปลือก คือ มองแค่ผ้าผ่อน เครื่องประดับก็ว่าสวยเสียแล้ว ยังมองไม่ถึงหนังเลย นี่เป็นเรื่องของคนที่ไร้ปัญญา เป็นผู้หนาแน่นไปด้วยกิเสส ไม่ได้หาของจริง
           ไฟ มีสภาวะร้อน  คนที่เป็นไข้แล้วจับสั่น นั่นเพราะธาตุไฟมันหย่อนกำลังลง ธาตุไฟถ้ากำเริบก็ตัวร้อน ไม่ว่าธาตุใดๆมันก็เสื่อมตัวลงทุกวัน

            ดังแพทย์แผนปัจจุบัน กล่าวไว้ว่า เซซลล์ต่างๆ มันตายไป แล้วก็มีตัวใหม่ๆเกิดมาทดแทน  ถ้ายังเด็ก ก็ยังไม่ค่อยจะเสื่อม ถ้าเป็นผู้ใหญ่แล้วจะเห็นชัด ว่า ตัวที่ตายไปมันมากกว่าตัวที่เกิดมาทดแทน

 ร่างกายจึงเริ่มเสื่อมโทรมลง ความเปล่งปลั่งของร่างกายมันเริ่มหมดไป เหลือแต่ความเหี่ยวแห้ว แก่ชรา
            ให้ดูตามความเป็นจริงว่า ของเก่าหมดไป ของใหม่เกิดทดแทน สืบต่อเนื่องไม่ขาดสาย แต่น้อยลงๆทุกที เรียกว่า สันตติ  อันนี้เป็น วิปัสนาญาณแล้ว ให้มองตามจริงว่าร่างกายส่วนไหนบ้างที่มันสะอาด  เหมือนถุงสวยๆที่เขาเอา ขยะ ของสกปรกต่างๆใส่ไว้ ผูก หัวผูกท้ายไว้อย่างดี เราก็เลยหลงคิดว่าถุงนี้สดสวย และสะอาด แต่พอเปิดปาก เปิดตูดถุงออก สิ่งสกปรกท้งหลายก็จะหลั่งไหลออกมา เราจึงเห็นและรู้สึกรังเกียจ

            พระท่านบอกว่า ให้ดูกายของเราเป็นสำคัญ แล้ว เปรียบเทียบกับกายคนอื่น กายเรามีความสกปรกหลั่งไหลออกมาตรงไหน อย่างไร กายคนอื่นก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะสวย จะหล่อแค่ไหน ก็เพียงเปลือกนอกเท่านั้น ข้างในเหมือนกันหมด มองให้ทะลุไปถึงเนื้อ ถึงอวัยวะข้างใน ว่ามีส่วนไหนบ้างที่สวยงาม
            แล้วพิจารณาว่า กายมันก็มีสภาพเป็นอย่างนี้ มีส่วนไหนที่เราบังคับมันได้ ไม่ให้เสื่อม ไม่ให้เจ็บป่วย ไม่ให้พัง ไม่ให้สกปรก ก็จะเห็นว่ามันไม่ยอมตามใจเรา ก็เพราะมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา สิ่งที่มันต้องเป็นคือ
 อนิจจัง ไม่เที่ยง
เต็มไปด้วยความทุกข์ เมื่อมันเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา  ทุกข์เพราะหิว ปวดอุจจาระ ปัสสาวะ ให้เห็นว่า ร่างกายนี้ไม่อาจทรงสภาพเดิมได้ตลอดไป เดินเข้าไปหาความตายทุกวัน ในที่สุดมันก็พัง เราก็ไม่สามารถควบคุมมันได้ ใช้การอะไรไม่ได้
            ให้พิจารณาว่า มันไม่ใช่เรา มันไม่ทรงตัว ไม่ใช่ของเรา แล้วเรายังจะอยากได้ร่างกายผู้อื่นเข้ามาประคองกอดรัดอีกเพื่ออะไร เพื่อให้มาเป็นของเราอีกหรือ ร่างกายเรา ร่างกายเขามันต่างก็พังไปด้วยกัน สกปรกเหมือนกัน  ให้ใจเราวางในร่างกายเสีย เพราะร่างกายนี้มันสกปรก  ทำความรู้สึกรังเกียจร่างกายเสียให้หมด โดยเฉพาะร่างกายเรานี่แหละ  ว่าร่างกายเลวๆแบบนี้ เราไม่ต้องการมันอีก ถ้าเรารังเกียจร่างกายเราเสียแล้ว เราก็จะรังเกียจ ร่างกายผุู้อื่นด้วย

            เป็นอันว่าความปราถนาในร่างกายจะต้องไม่ให้มีอีกต่อไป คิดอย่างนี้ให้เป็นปกติ บ่อยๆ ค่อยๆคิด ในที่สุดมันจะทรงตัว คิดได้บ้าง แพ้มันบ้างเป็นธรรมดา แต่ในที่สุดเราก็จะต้องชนะมัน มีจิตทรงตัวเป็น เอกัคคตารมณ์ นี่อารมณ์เป็น ฌาณ
            ให้ฝึก อาณาปานุสสติกรรมฐานเข้ามาช่วย ให้มีอารมณ์ทรงตัวไว้ เมื่อคลาย สมาธิออกมาก็พิจารณาตามนี้ เมื่อจิตเริ่มฟุ้งซ่านก็กลับเข้าจับ อานาปานุสสติใหม่ สลับไปมาอย่างนี้ ไม่ช้าก็จะเป็น เอกัคคตารมร์ พอจิตตั้งตรงดีแล้ว ความเป็นพระอริยเจ้าก็มาถึง


         
         
   

วันพุธที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สังฆาทิเสส ๑๓

สังฆาทิเสส ๑๓ 

คืออะไร    สังฆาทิเสส คือประเภทของโทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทประเภท ครุกาบัติ (อาบัติหนัก) ที่เรียกว่า อาบัติสังฆาทิเสส พระภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสส 13 ข้อใดข้อหนึ่ง ต้องอยู่ปริวาสกรรมเพื่อสำนึกผิด ถึงจะแก้อาบัติสังฆาทิเสสได้

เราชาวพุทธศาสนิกชนก็ควรต้องเรียนรู้ไไว้ว่าภิกษุทำอย่างนี้เป็นความผิดที่หนักมากพอสมควร หากทำเป็นปกติ ก็ไม่ควรไปเคารพนับถือ  พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องใกล้ตัว เราจะได้ยินข่าวพระทำไม่ดีเสมอ  เราจึงต้องเรียนรู้ว่าที่เขาทำเป็นความผิดขั้นไหน

          ๑.  ภิกษุแกล้งทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน (เจตนา)  ต้องสังฆาทิเสส (อันนี้เขาทำในที่ลับเราไม่อาจรู้ได้)



.        ๒.  ภิกษุมีความกำหนัดอยู่  จับต้องกายหญิง  ต้องสังฆาทิเสส. (ผู้หญิงต้องหลีกเลี่ยงอย่าให้พระภิกษุจับต้องตัว)

         ๓.  ภิกษุมีความกำหนัดอยู่  พูดเกี้ยวหญิง  ต้องสังฆาทิเสส. (ข้อนี้คุณผู้หญิงอาจเจอบ่อยๆ ควรรู้ไว้ว่าเป็นความผิด)
          ๔.  ภิกษุมีความกำหนัดอยู่  พูดล่อให้หญิงบำเรอตนด้วยกาม ต้องสังฆาทิเสส.

         ๕.  ภิกษุชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน  ต้องสังฆาทิเสส.  (ห้ามขอให้พระช่วยในเรื่องของความรัก)
          ๖.  ภิกษุสร้างกุฎีที่ต้องก่อและโบกด้วยปูนหรือดิน  ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ  จำเพาะเป็นที่อยู่ของตน  ต้องทำให้ได้ประมาณ  โดยยาว เพียง ๑๒  คืบพระสุคต (พระพุทธเจ้า) โดยกว้างเพียง ๗ คืบ  วัดในร่วมใน  และ ต้องให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน (กำหนด) ถ้าไม่ให้สงฆ์แสดงที่ให้ก็ดี  ทำให้เกินประมาณ
ก็ดี  ต้องสังฆาทิเสส.

          ๗.  ถ้าที่อยู่ซึ่งจะสร้างขึ้นนั้น  มีทายกเป็นเจ้าของ  ทำให้เกินประมาณนั้นได้  แต่ต้องให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน  ถ้าไม่ให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน  ต้องสังฆาทิเสส.
           ๘.  ภิกษุโกรธเคือง  แกล้งโจทภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล ต้องสังฆาทิเสส.
           ๙.  ภิกษุโกรธเคือง  แกล้งหาเลสโจทภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิก  ต้องสังฆาทิเสส.
10. ภิกษุพากเพียรเพื่อจะทำลายพระสงฆ์ให้แตกกัน ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟังสงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤตินั้น ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส
11. ภิกษุประพฤติตามภิกษุผู้ทำลายสงฆ์นั้น ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤตินั้น ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส
12. ภิกษุว่ายากสอนยาก ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละประพฤตินั้น ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส
13. ภิกษุประทุษร้ายนตระกูล คือประจบคฤหัสถ์ สงฆ์ไล่เสียจากวัด กลับติเตียนสงฆ์ ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤตินั้น ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส
อาบัติสังฆาทิเสส ต้องเข้าแล้วไม่แก้ไขทำให้ตกถึงมหาตาปนรก มีอายุกึ่งกัป


หลักสูตร นักธรรมตรี

ปาราชิก และ สังฆาทิเสส

ปาราชิก

ปาราชิกนั้น  ภิกษุต้องเข้าแล้วขาดจากภิกษุ.

สังฆาทิเสส

สังฆาทิเสสนั้น  ต้องเข้าแล้ว  ต้องอยู่กรรม (ปริวาสกรรม) จึงพ้นได้.

อาบัติอีก ๕ อย่าง

ภิกษุต้องเข้าแล้ว ต้องแสดง (สารภาพ) ต่อหน้าสงฆ์หรือคณะหรือภิกษุรูปใดรูปหนึ่งจึง
พ้นได้.

        อาการที่ภิกษุจะต้องอาบัติเหล่านี้ ๖ อย่าง  คือ

1. ต้องด้วยไม่ละอาย
2. ต้องด้วยไม่รู้ว่าสิ่งนี้จะเป็นอาบัติ (ความผิด)
3. ต้องด้วยสงสัยแล้วขืนทำลง
4. ต้องด้วยสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร
5.ต้องด้วยสำคัญว่าไม่ควรในของที่ควร
6. ต้องด้วยลืมสติ

ข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม  ซึ่งยกขึ้นเป็นสิกขาบท 

1. ที่มาในพระปาติโมกข์
2. ไม่ได้มาในพระปาติโมกข์

สิกขาบทที่มาในพระปาติโมกข์นั้น  คือ  ปาราชิก ๔  สังฆาทิเสส ๑๓
อนิยต ๒  นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐  ปาจิตตีย์ ๙๒  ปาฏิเทสนียะ ๔
เสขิยะ ๗๕  รวมเป็น ๒๒๐  นับทั้งอธิกรณสมถะด้วยเป็น ๒๒๗.

ปาราชิก ๔  
  
 ๑.  เสพเมถุน (ร่วมเพศ) ต้องปาราชิก.

 ๒.  ภิกษุถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้  (ขโมย) ได้ราคา ๕ มาสกต้องปาราชิก.

 ๓.  ภิกษุแกล้งฆ่ามนุษย์ให้ตาย  ต้องปาราชิก.

 ๔.  ภิกษุอวดอุตตริมนุสสธรรม  ( คือธรรมอันยิ่งของมนุษย์ หรือ คุณธรรมอันวิเศษเหนือมนุษย์ )  ที่ไม่มีในตน  ต้องปาราชิก.


หลักสูตร นักธรรมตรี